15234 จำนวนผู้เข้าชม |
Fire Alarm Systems หรือ ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ คือระบบที่มีไว้สําหรับแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งทำให้สามารถรับรู้และระงับเหตุไม่ให้เพลิงไหม้ลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้
ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ จำเป็นต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
1. ตู้ควบคุม หรือแผงควบคุม
ตู้ควบคุม หรือแผงควบคุม คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับแจ้งเหตุการเกิดเพลิงไหม้จากอุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้ อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ และ แสดงการเกิดเพลิงไหม้พร้อมส่งสัญญาณแจ้งเหตุการเกิดเพลิงไหม้ ให้ผู้ควบคุมหรือผู้ที่อยู่ในอาคารทราบ รวมทั้งยังทำงานร่วมกับระบบอื่นของอาคารอีก เช่น ระบบดับเพลิงด้วยสารเคมี ระบบลิฟต์ ระบบปรับอากาศ ระบบอัดอากาศ และ ระบบเปิดหรือปิดประตูอัตโนมัติ เป็นต้น
2. แหล่งจ่ายไฟ
แหล่งจ่ายไฟ ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทำงานด้วยไฟฟ้าจึงต้องมีแหล่งจ่ายไฟให้ ในการนำระบบไปใช้งานต้องออกแบบ และ ติดตั้งให้ระบบสามารถทำงานได้ตลอดเวลา จึงมีแหล่งจ่ายไฟอยู่สองส่วนคือ แหล่งจ่ายไฟหลัก และ แหล่งจ่ายไฟสำรอง ปกติแหล่งจ่ายไฟหลักเป็นไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ เมื่อแหล่งจ่ายไฟหลักขัดข้องแหล่งจ่ายไฟสำรอง(แบตเตอรี่) จะจ่ายไฟแทน
3. อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ
อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แจ้งให้ตู้ควบคุมทราบการเกิดเหตุ ต่อจากนั้นระบบจะทำงานแจ้งเหตุโดยอัตโนมัติ อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ชนิดที่เริ่มสัญญาณด้วยมือ และ ชนิดอัตโนมัติ
3.1 อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ (Manual Station) เป็นสวิตช์ที่ทำงานจากการกดหรือดึงด้วยบุคคล สวิตช์บางแบบต้องทุบกระจกก่อนจึงจะสามารถกดหรือดึงได้
3.2 อุปกรณ์เริ่มสัญญาณอัตโนมัติ (Automatic Detector) เป็นอุปกรณ์ที่ตรวจสอบการเกิดเพลิงไหม้ และ ทำการแจ้งสัญญาณไปที่ตู้ควบคุมได้โดยอัตโนมัติ อุปกรณ์เริ่มสัญญาณอัตโนมัติ เช่น อุปกรณ์ตรวจจับควัน อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน อุปกรณ์ตรวจจับเปลวเพลิง อุปกรณ์ตรวจจับก๊าซ สวิตช์ตรวจการไหลในท่อระบบดับเพลิง เป็นต้น
4. อุปกรณ์ส่งสัญญาณ
อุปกรณ์ส่งสัญญาณ หรืออุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้และอุปกรณ์ตรวจจับสามารถตรวจจับได้แล้ว อุปกรณ์แจ้งเหตุจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณเตือนภัยให้กับผู้อาศัยในอาคารทราบเหตุอย่างทั่วถึง อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยเสียง และ อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยแสง
4.1 อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยเสียง เช่น กระดิ่ง หวูด ไซเรน และลำโพง เป็นต้น
4.2 อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยแสง เช่นสโตรบ อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยแสงนี้จะใช้กับสถานที่ที่มีเสียงดังมาก หรือ โรงพยาบาลที่ไม่สามารถแจ้งเหตุด้วยเสียงได้
5. อุปกรณ์ประกอบ
อุปกรณ์ประกอบ เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมป้องกัน และ ดับเพลิงโดยจะถ่ายทอดสัญญาณระหว่างระบบเตือนอัคคีภัยกับระบบอื่น เช่น
5.1 ส่งสัญญาณ กระตุ้นการทำงานของระบบบังคับลิฟท์ลงชั้นล่าง การปิดพัดลมในระบบปรับอากาศ เปิดพัดลมในระบบระบายอากาศ การควบคุมเปิดประตูทางออก เปิดประตูหนีไฟ ปิดประตูกันควันไฟ ควบคุมระบบกระจายเสียง และการประกาศแจ้งข่าว เปิดระบบดับเพลิง เป็นต้น
5.2 รับสัญญาณ ของระบบอื่นมากระตุ้นการทำงานของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เช่น จากระบบพ่นนํ้าปั๊มดับเพลิง ระบบดับเพลิงด้วยสารเคมีชนิดอัตโนมัติ เป็นต้น